สสส.และมูลนิธิคนเห็นคน เดินหน้าสร้างเครือข่าย ชุมชนท้องถิ่นเพชรบูรณ์ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า
เพชรบูรณ์-สสส.และมูลนิธิคนเห็นคน เดินหน้า
สร้างเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นเพชรบูรณ์ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า ในพื้นที่ อบต.สะเดียง
ลดปัจจัยเสี่ยงในสถานศึกษา และชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ
มีผู้เข้ารับการอบรมเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ของตำบลสะเดียง จำนวน 150 คน
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ห้องประชุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสะเดียง อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ ดร.ประทิน นาคสำราญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเดียง
เป็นประธานเปิดโครงการ
ขับเคลื่อนพลังเครือข่ายอาชีวะลดปัจจัยเสี่ยงในสถาบันการศึกษาและพัฒนาสุขภาวะชุมชนภาคเหนือตอนล่าง
โดยมี ร.ต.ต.สุขสัณห์ ภิชัย คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
เครือข่ายสื่อมวลชนจังหวัดเพชรบูรณ์และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ของตำบลสะเดียง จำนวน 150 คน เข้าร่วม
นางสาววรรณิกา หาญกลิ้ง นายกสมาคมองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็งจังหวัดเพชรบูรณ์
ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ว่าเนื่องด้วย มูลนิธิคนเห็นคน
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ในการที่จะร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ที่กำลังระบาดในกลุ่มของ
นักเรียน นักศึกษา และเยาวชนที่อยู่ในชุมชนทั้งในเมืองและชนบท
ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างทั้ง 6 จังหวัด
คือ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร และจังหวัดเพชรบูรณ์
ทั้งนี้ ปัญหาบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญในท้องถิ่น สอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ได้ดำเนินการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร
ปี 2564 จะพบว่า คนสูบบุหรี่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบทมากกว่าในเมือง
โดยคนสูบบุหรี่ในชนบทคิดเป็นตัวเลข 19.0% และในเขตเมืองคิดเป็น 15.6% นิโคตินพบได้ทั้งในบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า
ซึ่งนิโคตินจะออกฤทธิ์กระตุ้นสมองส่วนหน้า
หากมีการเสพติดไปแล้วอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายทางสมอง
ในส่วนที่มีหน้าที่ควบคุมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การตัดสินใจ
บุคคลิกและควบคุมพฤติกรรมทางสังคม โดยเฉพาะการเสพติดสารนิโคตินในเด็กและเยาวชน
ยิ่งในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงพัฒนาสมอง
การได้รับสารนิโคตินอาจส่งผลกระทบที่มีความรุนแรงต่อการพัฒนาสมอง ต่างจากช่วงอายุ 20-25 ปีขึ้นไป
แม้จะไม่มีผลทำลายสมองเช่นเดียวกับในวัยเด็กเพราะสมองมีการพัฒนาเต็มที่แล้ว
แต่สารนิโคตินยังมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งโรคหัวใจ โรคซึมเศร้า ปอดอักเสบ
มะเร็งปอด และโรคใหม่อย่างโรคปอดอักเสบรุนแรงจากบุหรี่ไฟฟ้า
การจะแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว จึงจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือ โดยเฉพาะ
“ชุมชน”
ในฐานะคนที่ใกล้ชิดของเด็กและเยาวชนโดยต้องเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เรียกร้องให้โรงเรียนปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า
เรียกร้องให้ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในทุกที่ที่กฎหมายห้ามสูบบุหรี่
รวมพลังผู้นําทางความคิดในท้องถิ่น สื่อ ร่วมรณรงค์ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า
สนับสนุนค่านิยมให้ชุมชนไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า องค์กรต้องเป็นต้นแบบปลอดบุหรี่ไฟฟ้า
ชี้เบาะแสถึงแหล่งที่มีการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า
และสุดท้ายเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า
ในการจัดอบรมในวันนี้มีวัตถุประสงค์
เพื่อเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในสถานศึกษา
และชุมชนที่เข้าร่วมโครงการและเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสุขภาวะในสถานศึกษาและชุมชน
มีผู้เข้ารับการอบรมเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ของตำบลสะเดียง จำนวน 150 คน และได้เรียนเชิญวิทยากรจาก สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
มาถ่ายทอดให้ความรู้
ด้าน ดร.ประทิน นาคสำราญ นาย อบต.สะเดียง กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทางโครงการที่ได้เลือกให้พื้นที่ของ
อบต.สะเดียง เป็นพื้นที่ในการจัดอบรม
อันจะเป็นประโยชน์กับคนในชุมชนของตำบลเราในการสร้างค่านิยมให้ชุมชนไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า
ร่วมกันชี้เบาะแสถึงแหล่งที่มีการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อให้ชุมชนของเราปลอดจากสารเสพติดที่มีพิษภัยอันตรายต่อบุตรหลานของเรา
และหวังว่าพลังของเครือข่ายที่เข้ารับการอบรม คือ อสม.ของตำบลสะเดียง
จะได้ช่วยกันร่วมกันปกป้องให้สังคม ชุมชนของเราปลอดภัยจากสารเสพติดทุกชนิดต่อไป.
ไม่มีความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น