ด้วยพลังแห่งศรัทธา ดารานักแสดง ร่วมเป็นนางรำ รำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา ในงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ
เพชรบูรณ์-ด้วยพลังแห่งศรัทธา จากประชาชน ดารานักแสดง 3,500 คน ร่วมพิธีรำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา ในงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ จังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี 2567
เวลา 18:00 น วันที่ 30 กันยายน 2567 ที่พุทธอุทยานเพชบุระ (องค์พระใหญ่) นายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์รักษาการแทนผู้ว่าราชการเป็นประธาน ในพิธีรำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา เนื่องในงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ จังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี 2567 พร้อมด้วยนายจิรวัฒน์ มณีโชติ นายสืบพงษ์ นิ่มพูลสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ทั้งสอง ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงาน นักท่องเที่ยว ดารานักแสดง และประชาชนชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมพิธีเนืองแน่น
โดยมี ดร.เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ กล่าวรายงานว่า พิธีรำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา ได้จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 แต่เดิมนั้นมีแต่ประเพณีแห่ทางบกและทางน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคล ของประชาชนชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ และเพื่อเป็นการรำลึกและบูชาสักการะ ให้พระพุทธมหาธรรมราชาได้ปกปักษ์รักษาคุ้มครอง มีนางรำจากภาคส่วนต่างๆ ทั้ง 11 อำเภอ ของจังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 3,500 คน ได้รวมพลังแห่งศรัทธาพร้อมใจกันรำถวาย “พระพุทธมหาธรรมราชา” หรือ “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา” พระพุทธเจ้าบรมครูแห่งโอสถ โอกาสเดียวกันนี้ ดารานักแสดงและศิลปินนักร้องสาว ประกอบด้วย ปู-ไปรยา สวนดอกไม้, กานดา อาร์สยาม, โบว์ และเจน ซุปเปอร์วาเลนไทน์, ปัอม วินิจ ก็ได้ร่วมรำถวายในพิธีดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน
สำหรับปีนี้มีผู้มีศรัทธาร่วมรำถวาย 3,500 คน ถือว่ามากเป็นประวัติการณ์ และที่น่าภาคภูมิใจคือ มีนักเรียนเข้าร่วม สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างคนรุ่นเก่าไปยังคนรุ่นใหม่หรือรุ่นหลาน ซึ่งจะทำให้งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำมีความต่อเนื่องสืบสานกันต่อไป อีกทั้ง “คนที่มาร่วมพิธีรำถวายและมาร่วมงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ มาขอพรและกลับไปพร้อมสิ่งที่เป็นมงคลกับชีวิตของตนเอง จึงทำให้งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำได้รับความสนใจจากดาราศิลปินมากขึ้นในปีนี้ และคาดว่าจะมีคนดังมาร่วมพิธีในปีต่อ ๆ ไปมากขึ้น ดร.เสกสรรกล่าว
ด้านดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมรำถวายทั้งหมดนี้ต่างก็มีเป้าหมายว่าสักครั้งในชีวิตจะได้มารำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา ส่วนการแต่งกายก็มีนัยยะสำคัญ โดยผู้รำถวายนุ่งโจงกระเบน เพราะเป็นการแต่งกายแบบสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของประเพณีอุ้มพระดำน้ำ
“สำหรับโจงกระเบนสีน้ำตาล หมายถึงเปลือกมะขาม ส่วนสะไบและผ้าคาดเอวสีเขียวใบไม้เป็นสีประจำจังหวัด และเสื้อสีขาวเป็นสีแห่งความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธมหาธรรมราชาและประเพณีอุ้มพระดำน้ำ” โดยสรุปประเพณีนี้จัดโดยชาวเพชรบูรณ์ เกิดจากความศรัทธา ความเลื่อมใส และความเชื่อถือในพระพุทธศาสนา และพระคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ ดร.วิศัลย์กล่าว.
เพชรชัยออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น