Facebook

จังหวัดเพชรบูรณ์​ ขอเชิญเที่ยวงานอุ้มพระดำน้ำ​ประจำปี​ 2567 ระหว่าง​ วันที่​ 27 ก.ย.​ - 6 ต.ค.​67

ปัญหาการจัดงานประเพณี กับผลประโยชน์ทับซ้อน อีกหนึ่งช่องทางนำไปสู่การทุจริต ในภาครัฐ

 

ปัญหาการจัดงานประเพณี กับผลประโยชน์ทับซ้อน

อีกหนึ่งช่องทางนำไปสู่การทุจริต ในภาครัฐ


          นับจากนี้ไปเราจะได้พบเห็นการจัดงานประเพณีต่างๆ ในหลายอำเภอ ของจังหวัดเพชรบูรณ์ หลายแห่งเริ่มมีการติดป้ายประชาสัมพันธ์งานประเพณีต่างๆ ไม่ว่างานเล็กงานใหญ่ โดยเฉพาะงานงิ้ว ไม่ว่าจะเป็นอำเภอหนองไผ่ อำเภอบึงสามพัน อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอชนแดน อำเภอศรีเทพ ถือเป็นการสืบทอดประเพณี  ซึ่งก็เป็นเรื่องดี เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้พ่อค้า แม่ขาย แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ต้องไม่สร้างความเดือดร้อน ให้กับประชาชนโดยรวมโดยเฉพาะการสัญจรไป-มา บนท้องถนน แต่ก็ปรากฎว่าประเดิมงานแรกด้วยงานงิ้วที่อำเภอชนแดน ก็ได้รับร้องเรียน หนาหู ถึงความไม่เหมาะสม ความมักง่าย ที่ปิดถนนทางหลวงแผ่นดิน เปิดโอกาสให้คาราวานสินค้าเข้าจับจองขายของกัน

         โดยที่อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มีการจัดงานงิ้วประจำปี 2566 แล้วก็ได้มีการปิดกั้นถนนทางหลวงแผ่นดิน สายชนแดน-ตะพานหิน ตั้งแต่บริเวณทางแยกไปอำเภอวังโป่ง ยาวไปจนถึงหน้าสถานีตำรวจภูธรชนแดน ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ในขณะที่งานงิ้วจะเริ่มงานในระหว่างวันที่ 5-8 พฤศจิกายน 2566​ และก็คาดว่าจะมีการปิดถนนไปอีกจนกว่าจะสิ้นสุดการจัดงานงิ้วสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ในการสัญจร ไป-มา เป็นอย่างมาก

          ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของแขวงทางหลวงเพชรบูรณ์ที่ 2 บึงสามพัน​ ที่จะต้อง ตรวจตรา กำกับ ดูแล แต่กลับปล่อยปละละเลย ปล่อยให้คาราวานสินค้าตั้งเต็นท์ เพื่อเป็นที่จำหน่ายสินค้า ที่สำคัญกลับมีการจัดล็อค เรียกเก็บค่าเช่าที่  ในทางหลวงแผ่นดิน ตลอดจนวางสิ่งของมาขวางบนทางหลวงแผ่นดินดังกล่าวอีกด้วย

           การนำเอาเหตุผลของการจัดงานประเพณีมาอ้าง เพื่อให้มีการละเมิดกฎหมาย ระเบียบ ของบ้านเมืองเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ไม่มีจิตสำนึก จงใจที่จะอยู่เหนือกฎหมาย หรือไม่​ ถือเป็นอภิสิทธิ์ชนหรือเปล่า ที่จะกระทำการสิ่งใดก็ได้​  ที่จะทำให้ตนเองและพวกพ้อง ได้รับประโยชน์จากการจัดงาน โดยไม่คำนึงถึงรับผิดชอบต่อส่วนรวม ขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในแต่ละหน่วยงาน ที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกลับเพิกเฉย เอาหู ไปนา เอาตาไปไร่ ไม่รู้ว่ามีอะไรไปบังตาจนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ตั้งแต่การปิดกั้นถนน เรียกเก็บเงินค่าล็อคโดยอาศัยทางหลวงแผ่นดินเป็นที่จัด การจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มสิ่งมึนเมา สิ่งเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้งสิ้น เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานที่ควรจะต้องร่วมกันควบคุมดูแลรับผิดชอบอย่างเข้มงวด ไม่ว่าเป็น สรรพสามิต ปกครอง ตำรวจ อปท. สาธารณสุข ฯลฯ

         ซึ่งการจัดงานประเพณีต่างๆ ทุกครั้ง ทุกที่ มักจะมีข่าวการวิ่งเต้น และขอใช้ประโยชน์จาก ถนนหลวง ทางเท้า เสมอ จนมีข่าวหนาหูเรื่องเงินทอง เข้ามาเกี่ยวข้อง ว่ามีการเสนอผลประโยชน์ต่างตอบแทน ที่มีตัวเลขค่อนข้างสูง ได้ยินได้ฟังจนเป็นที่คุ้นชินและยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันเรื่อยมา ถือเป็นช่องทางหนึ่งในการทุจริต ที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ของหน่วยงานราชการ  เมื่อมองลึกลงไป หรือติดตามดูจะพบว่า จะเป็นเจ้าเดิม รายเดิม ถือเป็นการผูกขาด ส่วนจะมีใครได้ใครเสียหรือไม่ ต้องค้นหาความจริงมันเป็นคำถามที่ผู้คนเขาเคลือบแคลงสงสัย

        เรื่องนี้ฝากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบนำไปพิจารณาหาทางแก้ไขด้วย โดยเฉพาะ นายอำเภอชนแดน  ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงเพชรบูรณ์ที่ 2 บึงสามพัน​ได้ดำเนินการแก้ไข ตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าการกระทำการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบของทางราชการหรือไม่.                                                                                                      ขุนพลเพชรบูรณ์...


 


ไม่มีความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น


Popular Posts

ขับเคลื่อนโดย Blogger.