Facebook

ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางอย่างปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๘

ทั่วโลกแสดงความยินดี หลังคณะกรรมการมรดกโลก มีมติรับรองเมืองโบราณศรีเทพ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

 

      เพชรบูรณ์-ทั่วโลกแสดงความยินดีกับประเทศไทย ที่คณะกรรมการมรดกโลก ได้ประชุมมีมติประกาศรับรองให้เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์  ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม อย่างเป็นทางการ นับเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแหล่งที่ 4 และเป็นแห่งที่ 7 ของประเทศ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก

        วันที่ 19 กันยายน 2566 เวลา 15.36 น. ตามเวลาท้องถิ่นช้ากว่าไทยประมาณ 4 ชั่วโมง ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 25 ก.ย. 2566 มีวาระการประชุมทั้งหมด 53 วาระ ซึ่งวาระเมืองโบราณศรีเทพของไทยถูกบรรจุในวาระการพิจารณาที่ 31 โดยที่ประชุมได้มีมติประกาศรับรองให้เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์  ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม อย่างเป็นทางการ  ถือเป็นแหล่งที่ 4 ของประเทศไทย และ เป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของประเทศไทยอีกด้วย ทุกประเทศต่างปรบมือแสดงความยินดีกับประเทศไทยและจังหวัดเพชรบูรณ์

       ซึ่งจากนี้เมืองโบราณศรีเทพจะเป็นสถานที่หรือพื้นที่สำคัญที่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายโดยอนุสัญญาระหว่างประเทศซึ่งบริหารงานโดยองค์กร UNESCO หลังจากที่ ศรีเทพ ถูกเสนอเป็นแหล่งมรดกโลกแบบ Serial nomination โดยนับเอาพื้นที่ที่เป็นสามองค์ประกอบอันทรงคุณค่าและมีความเชื่อมโยงกันทั้งในด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก และเขาถมอรัตน์


         สำหรับเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอศรีเทพ  จังหวัดเพชรบูรณ์  เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์กว่า 2,000 ปี และมีความสำคัญมากที่สุดเมืองหนึ่งในวัฒนธรรมทวารวดี มีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 ซึ่งถือว่าเป็นวัฒนธรรมแรกสุดของการพัฒนาชุมชนจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์สู่ชุมชนเมืองที่มีวิทยาการ โดยมีผังเมือง และคูน้ำคันดินที่สมบูรณ์และเป็นเอกลักษณ์ ผังเมืองเดิมมีลักษณะเป็นรูปเกือบเป็นวงกลมเรียกว่า เมืองใน

        ต่อมาได้ขยายออกมาอีกชั้นหนึ่งเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน เรียกว่าเมืองนอก ทั่วบริเวณมีประจักษ์หลักฐานที่สะท้อนให้เห็นการแลกเปลี่ยนและความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมดังปรากฏในรูปเคารพ พระพุทธรูป พระนารายณ์ จารึกโบราณ และศาสนสถาน ที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่

        โบราณสถานเขาคลังนอก เป็นศาสนสถานแห่งเดียวที่คงเหลือและมีความสมบูรณ์ครบถ้วน โดยเป็นศาสนาสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ปรากฏในรูปแบบศิลปะทวารวดีในประเทศไทย ซึ่งมีการวางผังสะท้อนแนวคิดเรื่องมณฑลจักวาลหรือศูนย์กลางจักรวาลผ่านแผนผังที่มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีการย่อเก็จและฐานบัววลัยที่มีปราสาทจำลองประดับ เขาคลังนอกมีแกนอันศักดิ์สิทธิ์เชื่อมโยงกับเขาถมอรัตน์

          เขาถมอรัตน์ เป็นเขาหินปูน และขุนเขาศักดิ์สิทธิ์วางผังเป็นแนวแกนเดียวกับโบราณสถานเขาคลังนอกภูเขามีรูปลักษณ์เฉพาะ ซึ่งใช้เป็นจุดสังเกตหรือแลนด์มาร์คในการเดินทางที่ท้าทายและสำคัญที่เริ่มมีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในสมัยทวารวดีได้มีการดัดแปลงถ้ำหินปูนที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขาให้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาแบบมหายาน จนก่อเกิดเป็นแหล่งรวมความศรัทธาของนักเดินทาง เส้นทางแสวงบุญอันศักดิ์สิทธิ์ และยังเป็นศาสนสถานประเภทถ้ำในวัฒนธรรมทวารวดี เนื่องในพุทธศาสนามหายานแห่งเดียวในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.






เพชรชัยออนไลน์

 

 


ไม่มีความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น


Popular Posts

ขับเคลื่อนโดย Blogger.