Facebook

ด๊อกเตอร์อ้อเดินหน้า ผลักดันโครงการ soft power ต่อยอด โครงการรวมพลังบวรสร้างเศรษฐกิจชุมชน ชุมชนคุณธรรมวัดโพธิ์ทอง ตำบลนาตระกุด อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

ประธานชมรมคนรักษ์เขาค้อ ยื่นหนังสือร้อง เร่งแก้ปัญหา เขตป่าสงวนฯ ทับที่ดินประชาชน ที่ได้สิทธิ์ตามประมวลกฏหมายที่ดินมาก่อน

 

       เพชรบูรณ์-ประธานชมรมคนรักษ์เขาค้อ เข้ายื่นหนังสือ ร้องขอให้ เร่งแก้ปัญหาเขตป่าสงวนแห่งชาติ ประกาศทับซ้อน ที่อยู่อาศัยของประชาชน ที่ได้สิทธิ์ในที่ดิน ในการจัดที่ดินแปลงใหญ่ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาก่อน

       วันที่ 22 สิงหาคม 2565 นางบุปผา จันทร์เพ็ง ประธานชมรมคนรักษ์เขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เข้าพบนายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมมอบเอกสารหลักฐานสำคัญ จำนวน 12 รายการ และรายมือชื่อประชาชนจำนวน 637 คน เพื่อร้องขอให้แก้ปัญหาเขตป่าสงวนแห่งชาติ ประกาศทับซ้อนที่อยู่อาศัย ของประชาชนในพื้นที่ 4 ตำบล ของอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์

        ประกอบด้วย ตำบลริมสีม่วง ตำบลเขาค้อ ตำบลหนองแม่นา และตำบลสะเดาะพง ที่ประชาชนได้สิทธิ์ในที่ดิน ในการจัดที่ดินแปลงใหญ่ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาก่อน โดยขอให้ประธานคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย โดยนางบุปผาฯได้กล่าวว่า จากเอกสารหลักฐานที่ได้ยื่นร้องในครั้งนี้

       ที่ผ่านมาเนื่องจากกรมป่าไม้ ไม่ได้กันพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ที่ได้จัดสรรตามประมวลกฏหมายที่ดินออกจากแนวเขตป่าถาวร ก่อนการประกาศให้ 4 ตำบล ของอำเภอเขาค้อ เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้จากเอกสาร หลักฐาน ที่ประชาชนในพื้นที่ 4 ตำบล อำเภอเขาค้อ ได้รับมาจากกรมที่ดิน กรมป่าไม้ , มติ ครมและ รายงานการประชุมคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ได้ปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ว่า ในช่วงระหว่างปี พ.ศ 2519 ถึง พ.ศ 2520 คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ (คจช.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 14 ประมวลกฎหมายที่ดิน ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 20 (5) อนุมัติให้จังหวัดเพชรบูรณ์ จัดที่ดินแปลงใหญ่ ในพื้นที่สองข้างทาง ในเขตผู้ก่อการร้าย ข้างละ 1 กิโลเมตร ตามระเบียบว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชน ของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ

      ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ตามประมวลกฎหมายที่ดินจำนวน 2 ครั้ง รวม 3 โครงการ มีพื้นที่รวม 70,375 ไร่ โดยครั้งที่ 1 โครงการที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2519 ตามนโยบายของทางจังหวัด เส้นทางสายทุ่งสมอ-เขาค้อจำนวน 12,875 ไร่ ครั้งที่ 2 โครงการที่ 2 และ 3 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2520 ตามนโยบายของ คณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่ในเขตกองทัพภาคที่ 3 โครงการเส้นทางสายนางั่ว-หนองแม่นา จำนวน 40,000 ไร่ และ โครงการเส้นทางสายเขาค้อ-สะเดาะพง จำนวน 17,500 ไร่.

       จึงเกิดเป็นประเด็นปัญหา ทำให้ราษฎรถูกกล่าวหาว่าบุกรุก ป่าเขาปางก่อ วังชมพู และ เขาโปรกหล่น เพราะเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ดำเนินการกันพื้นที่ดิน ที่จัดสรรตามมติ เปิดป่าของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2518 หลังจากรัฐมนตรีเกษตรในดอีตได้อนุมัติให้จังหวัด นำที่ดินเฉพาะส่วนที่ขอจัดสรรและทำการจัดที่ดินแปลงใหญ่ได้ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2520 แล้วเมื่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่ได้ทำการกันพื้นที่จัดสรรออกจากแผนที่ของแนวเขตป่าไม้ถาวร ตามที่ตัวแทนกรมพัฒนาที่ดิน และ อธิบดีกรมป่าไม้ ในขณะนั้นได้ระบุไว้ในรายงานการประชุมด้วย

       เป็นสาเหตุทำให้อธิบดีกรมป่าไม้ ได้นำพื้นที่ที่มีสถานะเป็นที่จัดสรรตามประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นพื้นที่ที่มีการประกาศใช้ พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 จัดตั้งกิ่งอำเภอเขาค้อ และ 32 หมู่บ้าน ไม่ใช่ป่าถาวรตาม มติ ครม.และ ไม่ใช่ป่าตามมาตรา 4 แห่ง พรบ.ป่าไม้ 2484 นำไปประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวงที่ 1184/2529 และ 1197/2530 ออกตามความใน พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ 2507 ซึ่งล้วนขัดต่อมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่ง พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 อีกด้วย

      จึงถือเป็นการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยมิชอบ อีกประการหนึ่งในอดีตจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ออกหนังสือรับรองการเข้าอยู่อาศัย และ ทำกิน ในที่ดินชั่วคราว ตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยระบุว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ในขณะนั้น โดยความเห็นชอบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาต จากกรมป่าไม้ ให้ใช้ที่ดิน แทนการออก เอกสารสิทธิ์ (นส.2)  

       ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริง ขัดต่อข้อกฎหมาย และ ไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับ ขัดต่อระเบียบว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชนของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 72 ตอนที่ 68 ลงวันที่ 6 กันยายน 2498 ขัดต่อ มติของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ในวาระที่ 3.2 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2526 ในการพิจารณาเรื่องของการออกเอกสารสิทธิ์ทำกินว่า ส่วนการจัดที่ดินให้ประชาชนตามประมวลกฎหมายที่ดินคงไปเป็นตามหลักการเดิม และ ขัดต่อหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดที่ดินตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก พ.ศ.2523 ในหมวดที่ 4 เรื่อง ว่าด้วยการจัดที่ดินข้อ 8 (8) ที่ระบุให้ออกใบจองเป็นหลักฐานอีกด้วย

      เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริง ข้างต้นจะเห็นว่าสภาพของพื้นที่ใน 4 ตำบล ของอำเภอเขาค้อ จึงมี 2 สถานะ ตามกฎหมาย คือสถานะที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน จากการอนุมัติของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาจังหวัดได้คัดเลือกราษฎรอาสาขึ้นมา เจ้าหน้าที่จากหน่วยจัดที่ดินของกรมที่ดิน ได้ชี้แจงให้ราษฎรอาสาเข้าครอบครองอยู่อาศัยและทำกินอย่างเปิดเผย

      ใช้ พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 จัดตั้งหมู่บ้าน กิ่งอำเภอ เพื่อจัดระเบียบการปกครองราษฎรอาสา ออกบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2527 เป็นต้นมา ถือได้ว่าราษฎรอาสา ได้ใช้สิทธิ์ครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินตามมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินมาก่อน ที่จะประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในปี 2529 จนถึงปัจจุบันนี้ สถานะของที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ยังคงอยู่มิได้ถูกยกเลิกแต่อย่างใด

     สถานะของที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 อันถือได้ว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดำเนินการ กันแนวเขตที่ดินจัดสรรออกจากแนวเขตป่าถาวร ในเวลานั้น จนเป็นเหตุให้กรมป่าไม้ในพื้นที่ นำเอาพื้นที่ที่ได้จัดสรรแล้ว ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไปประกาศทับเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมด สร้างปัญหาและความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว.

เพชรชัยออนไลน์




       

 

 


ไม่มีความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น


Popular Posts

ขับเคลื่อนโดย Blogger.