Facebook

ด๊อกเตอร์อ้อเดินหน้า ผลักดันโครงการ soft power ต่อยอด โครงการรวมพลังบวรสร้างเศรษฐกิจชุมชน ชุมชนคุณธรรมวัดโพธิ์ทอง ตำบลนาตระกุด อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

 ชาวเมืองเพชรบูรณ์สืบสานประเพณี

ก่อพระเจดีย์ทรายกลบธาตุ ถือเป็นบุญใหญ่


     เพชรบูรณ์-ชาวเมืองเพชรบูรณ์สืบสานประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายกลบธาตุ แสดงถึงความกตัญญูต่อบุพการีที่สืบทอดกันมานับร้อยปี ถือเป็นบุญใหญ่

    วันที่ 31 มี.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ร่วมกับวัดช้างเผือก ต.ในเมือง และวัดทุ่งสะเดียง ต.สะเดียง จัดงานประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายกลบธาตุ ประเพณีเก่าแก่ที่แสดงถึงความกตัญญูต่อบุพการีที่สืบทอดกันมานับร้อยปี โดยมีพี่น้องประชาชนทั้งสองตำบลมาร่วมงานอย่างคับคั่ง

    ดร.เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ช่วงก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ตรงกับวันตรุษไทย คือ วันแรม 14 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 31 มี.ค.2565 วัดทุ่งสะเดียง และวัดช้างเผือก ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ได้จัดประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายกลบธาตุ ซึ่งเป็นประเพณีที่มีความสำคัญและทรงคุณค่าสำหรับชุมชนทั้ง 2 แห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง

     เนื่องจากประเพณีดังกล่าวไม่ใช่แค่การแสดงออกถึงการน้อมนำเป็นพุทธบูชาพระพุทธรัตนตรัยเท่านั้น แต่ตามพุทธประวัติบอกไว้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้โปรดประทานพระธรรมเทศนาต่อพระเจ้าปัสเสนทิโกศล เมื่อครั้งเกิดกุศลจิตเลื่อมใสศรัทธาอันแรงกล้าต่อพุทธศาสนา โดยทรงก่อเจดีย์ทรายถวายถึง 84,000 องค์ ให้ถือว่าเป็น บุญใหญ่ ทำให้ชาวพุทธทั้งหลายต่างถือปฏิบัติกระทำเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจน ถึงปัจจุบัน

    ประเพณีการก่อพระเจดีย์ทรายของชาวบ้าน 2 ชุมชนนี้ ไม่ใช่แค่มีศรัทธาอันแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังแฝงถึงความเชื่อด้วยว่า การก่อพระเจดีย์ทรายยังเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบุพการีรวมทั้งญาติพี่น้อง ที่ล่วงลับ ขณะเดียวกันยังสานสัมพันธ์ไมตรีในหมู่เครือญาติและครอบครัว รวมทั้งทำให้ความรักสามัคคีขึ้นในชุมชนอีกด้วย


    รูปแบบของการก่อพระเจดีย์ทรายของชาวบ้านวัดทุ่งสะเดียงและวัดช้างเผือก อาจจะแตกต่างไปจากที่อื่นบ้าง เนื่องจากจะมีการนำ ธาตุ หรือ อัฐิ หรือ เถ้ากระดูก ของญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว มาทำพิธีกลบทรายฝังธาตุ เพื่อให้อัฐิหรือเถ้ากระดูกได้สัมผัสกับธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ แฝงด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นการอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตหรือผู้ล่วง ลับไปแล้ว เพื่อให้ดวงวิญญาณสู่สัมปรายภพอย่างสุคตินอกจากนั้น การที่แต่ละคนได้มาสัมผัสกับกระดูกหรือธาตุของญาติพี่น้องที่เคยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมาก่อน ยังเป็นการสื่อคติสอนใจถึงความไม่เที่ยงของสังขาร เพื่อให้ผู้มีชีวิตอยู่ได้ตระหนักถึงความไม่เที่ยงของชีวิต และควรดำรงตนอยู่ด้วยการมีสติและไม่ประมาทอีก 

     สำหรับในปีนี้มีชาวบ้านทั้ง 2 ชุมชนเข้าร่วมมากกว่าทุกปีที่ผ่านมาถึง 164 กอง โดยลูกหลานได้เริ่มทยอยนำทรายและดอกไม้รวมทั้งเครื่องประดับต่าง ๆ มาก่อและประดับเจดีย์ทรายตั้งแต่เช้า กระทั่งในช่วงบ่ายจึงประกอบพิธีทางศาสนา แต่เดิมนั้นก่อนถึงวันประกอบประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายกลบธาตุ ชาวสะเดียงจะช่วยกันตีฆ้องร้องป่าวประกาศให้ชาวบ้านได้รับรู้และเตรียมตัวไป ร่วมงานก่อน 3 วัน ช่วงนี้เองที่บรรดาญาติพี่น้องที่อยู่ต่างจังหวัดจะเดินทางกลับมาร่วมทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการีและญาติที่เสียชีวิต

      เมื่อถึงวันก่อพระเจดีย์ทราย ชาวสะเดียงก็จะนำอัฐิหรือเถ้ากระดูกติดมาที่วัด ซึ่งระหว่างการก่อพระเจดีย์ทราย จะนำโกศหรือภาชนะที่บรรจุเถ้ากระดูกฝังไว้ จากนั้นนำดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีพระภิกษุนำสวดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิต หากปฏิบัติติดต่อกัน 3 ปี ถือว่าครบถ้วนสมบูรณ์ตามประเพณี

     จากนั้นจะนำไปบรรจุไว้ตามสถานที่ต่างๆ หรือนำขึ้นหิ้งเพื่อบูชา ผู้ที่มาร่วมก่อเจดีย์ทรายล้วนเป็นญาติพี่น้องในครอบครัว ทั้งเด็กๆ ผู้หญิงและคนชรา ทุกคนต่างใช้สองมือช่วยกันตบแต่งกองทรายกองเล็กๆ จนกลายเป็นเจดีย์ทรายเล็กๆ มีการตบแต่งด้วยดอกไม้อย่างสวยงาม และนำโกศบรรจุอัฐิมากลบฝังหรือตั้งไว้ข้างพระเจดีย์ทราย เพื่อรอให้ผู้สูงอายุที่ทรงศีลมาสวดบังสุกุลให้ ถือเป็นการเสร็จพิธี.





ภาพ/ข่าว อารีย์ สีแก้ว

เพชรชัยออนไลน์

 


ไม่มีความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น


Popular Posts

ขับเคลื่อนโดย Blogger.