Facebook

ด๊อกเตอร์อ้อเดินหน้า ผลักดันโครงการ soft power ต่อยอด โครงการรวมพลังบวรสร้างเศรษฐกิจชุมชน ชุมชนคุณธรรมวัดโพธิ์ทอง ตำบลนาตระกุด อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

 

วัดและชุมชนบ้านท่ากกแก

แหล่งวัฒนธรรมที่ควรอนุรักษ์


      เพชรบูรณ์-ชุมชนคนท่ากกแก ปัจจุบันยังคงรักษาเอกลักษณ์การแต่งกายของทั้งชาย-หญิง วัดท่ากกแก โบราณสถานคู่บ้านท่ากกแก สถานที่ตั้งศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรม ชมรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทหล่ม กลุ่มมูลมัง (มรดก)

      ปัจจุบันวัฒนธรรมเก่าแก่นับวันจะหาดูได้ยาก สูญสลายหายไปตามกาลเวลา ด้วยความตระหนักสำนึกรัก ในบ้านเกิดในเรื่องของวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่ยังหลงเหลืออยู่ ไว้ได้เรียนรู้ถึงอดีตความเป็นมาของท้องถิ่นนั้น เช่นวัดและชุมชนบ้านท่ากกแก เทศบาลตําบลตาลเดี่ยว อําเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ควรค่าแก่การศึกษา อนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ยังหลงเหลืออยู่อีกจำนวนมาก ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา ทั้งเรื่องการแต่งกายพื้นบ้าน ทางด้านภาษา อาหาร โบราณวัตถุตลอดจนวัฒนธรรมประเพณี ที่ยังคงเหลือสืบทอดอนุรักษ์รักษากันมาจนถึงทุกวันนี้

     ดังจะเห็นถึงการแต่งกายของ ชุมชนคนท่ากกแก ที่ปัจจุบันยังคงรักษาเอกลักษณ์ในการแต่งกายของทั้งชายและหญิง ซึ่งผู้หญิงจะนิยมแต่งกายด้วยผ้าซิ่นหัวแดงตีนก่าน บอกเล่าตัวตนคนล้านช้าง เป็นการแต่งกายของสตรีชาวไทยหล่มดั้งเดิม นั้นจะต้องมี 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่หัวซิ่น ตัวซิ่น และ ตีนซิ่น นำมาประกอบกันรวมเรียกว่าซิ่นหัวแดงตีนก่าน ผู้ชายนุ่งโสร่ง คาดเอวด้วยผ้าแพรไส้ปลาไหล ภาษายังคงใช้ภาษาไทหล่ม หรือคนเมืองหล่ม มีสำเนียงภาษาคล้ายคน ลาวเวียงจันทน์ หลวงพระบาง

     ส่วนอาหารที่เรียกน้ำย่อย ที่ปัจจุบันหารับประทานได้ยาก เช่นเมี่ยงโค้นและขนมข้าวสะบัดงา เมี่ยงโค้น หรือ เมี่ยงค้นหา เป็นภูมิปัญญาด้านอาหารประเภททานเล่น หรืออาหารเรียกน้ำย่อย ที่อุดมคุณค่าสมุนไพรไทยในครัวเรือน เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ พริก กระเทียมและมีเอกลักษณ์ที่น้ำเมี่ยงใส่ปลาร้าม้วนห่อด้วยใบเดื่อ เพื่อเพิ่มรสชาติ และยังมี ขนมข้าวสะบัดงา หรือ ข้าวสลัดงา หรือ ข้าวแดกงา ภูมิปัญญาที่หารับประทานยาก ตัวแป้งทำจากแป้งข้าวเหนียวผสม กะทิ เกลือ และน้ำตาลทราย น้ำไปกวนใช้สำหรับห่อด้วยใบเดื่อ ใช้มะพร้าวทึนทึกนำมาขูด แล้วตั้ง เคี่ยวกับน้ำตาลปี๊บ และนำมาปั้นเป็นก้อนกลมและห่อด้วยแป้งที่กวนไว้ แล้วนำไปคลุกกับงาขาวที่คั่วจนหอมอีกชั้นหนึ่ง

     การแทงหยวก งานช่างเครื่องสลักอ่อน ที่ทรงคุณค่า การแทงหยวกหรือการสลักหยวก เป็นหนึ่งในงานฝีมือช่างสิบหมู่ ประเภทช่างสลักของอ่อน มีวัสดุหลักที่สำคัญคือต้นกล้วยนำมาสร้างเป็นงานฝีมือที่ประณีตและสวยงาม พร้อมกันนี้ การสับกระดาษหัตถศิลป์ที่ควรค่าอนุรักษ์ การสับกระดาษชาวบ้านนิยมใช้กระดาษสีที่มีสีสดมันวาวและใช้อุปกรณ์รูปร่างต่างๆ ตอกลงบนกระดาษให้เป็นลวดลายตามที่ต้องการเช่นลายดอก ลายกนกเป็นต้น


        นอกจากนั้น ยังมี วัดท่ากกแก โบราณสถานคู่บ้านท่ากกแก  ปัจจุบันมี พระสมุห์ไพรศาล ภทฺรมุนี เป็นเจ้าอาวาส และยังเป็นสถานที่ตั้งศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรม ชมรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทหล่ม กลุ่มมูลมัง (มรดก)

      วัดและชุมชนบ้านท่ากกแก เดิมเรียกว่า บ้านท่าขัวแก สันนิษฐานว่า เริ่มก่อตั้งเป็นชุมชนเมื่อประมาณปี พศ. 2323 สมัยกรุงธนบุรี พร้อมๆกับการก่อตั้งหมู่บ้านท่ากกโพธิ์และวัดโพธิ์ศรีสองคร (บ้านโพธิ์ศรีท่าสองคอน) มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าสร้างมาร่วมสมัยกับวัดโพธิ์ศรีสองคร คือมีสิมโบราณขนาดเล็กและพระประธานเก่าแก่ ซึ่งสิมและพระประธานเดิมได้ถูกกิ่งต้นโพธิ์หักลงมาทับพังเสียหาย ชาวบ้านจึงได้รื้อเอาอิฐเก่านำไปก่อเป็นธาตุน้อยสององค์ แล้วจึงได้ว่าจ้างช่าง ชาวเมืองน่าน มาก่อสร้างสิมขึ้นมาใหม่ครอบสิมหลังเดิม แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ 2478

       โดยชาวบ้านจะช่วยกันนำดินจากคลองกากะเลา (ฮ่องกุดกุง) นำมาปั้นอิฐยังปรากฏชื่อวังอิฐมาจนถึงทุกวันนี้ และนำปูนจากบ้านห้วยปูนนำมาก่อฉาบเป็นทรวดทรงมีเอวขันแบบสิม ล้านช้างเวียงจันทน์ทั่วๆไป แต่ประดับตกแต่งช่อฟ้า (โหง้ว) ใบระกา แกะสลักด้วยไม้เป็นศิลปะล้านนา มีคันทวยไม้สลักเป็นรูปต่างๆ ลวดลายปูนปั้นที่บริเวณฐานพระ เหนือบานหน้าต่างลายเครือเถาว์หน้าราหู ครุฑ ลิงเกาะเกี่ยว ที่โดดเด่นคือลายปูนปั้นรูปพญานาคเกี้ยว 7 หัว บริเวณเหนือซุ้มประตู ช่างชาวจังหวัดน่า ได้สร้างพระประธานองค์ใหญ่ 1 องค์ และองค์เล็กอีก 2 องค์ ด้วยอิฐและปูนมีลักษณะสวยงามแบบอย่างศิลปะเมืองน่าน (ล้านนาผสมลาวและไทลื้อ) ชาวบ้านเรียกกันว่า พระเจ้าใหญ่ ภายหลังประมาณปี พ.ศ 2535 พระราชพัชราภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ ในสมัยนั้นจึงได้ตั้งชื่อเรียกใหม่ว่า พระสุวรรณนันทมุนี นับแต่นั้นมา

       พระสมุห์ไพรศาล ภทฺรมุนี เจ้าอาวาส วัดท่ากกแก กล่าวว่า ปัจจุบันวัดและชุมชน ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี มีการสืบทอดประเพณีดั้งเดิมต่างๆ ตลอดทั้งปี อย่างเช่น เดือนเจียง หรือ เดือนอ้าย ก็จะมีพิธีบุญเข้ากรรม เดือนยี่ พิธีบุญคูนลาน เดือน 3 พิธีบุญข้าวจี่ เดือน 4 บุญผะเหวด เดือน 5 บุญสงกรานต์ เดือน 6 บุญบั้งไฟ เดือน 7 บุญซำฮะ เดือน 8 บุญเข้าพรรษา เดือน 9 บุญห่อข้าวประดับดิน เดือนสิบ บุญข้าวสลาก (บุญข้าวสาก) เดือน 11 บุญออกพรรษา และ เดือน 12 บุญกฐิน โดยเฉพาะประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง และการไหลเรือไฟน้อย ที่มีแห่งเดียวในจังหวัดเพชรบูรณ์

    ล่าสุดนายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ร่วมประชุม กับ นายสุบิน บุญจันทร์ นายกเทศมนตรีตำบลตาลเดี่ยว พร้อมคณะผู้บริหาร ในการที่จะรวบรวม ส่งเสริม อนุรักษ์แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ของตำบลตาลเดี่ยว ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย จำนวนมาก ให้คงอยู่สืบไป.  






เพชรชัยออนไลน์

 

 

 

 

 

 


ไม่มีความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น


Popular Posts

ขับเคลื่อนโดย Blogger.