มติ คปป.ไม่พิจารณา
บ.อัคราฯ ขอใช้ประโยชน์ในเขตป่า
เพชรบูรณ์-มติ คปป.จังหวัดเพชรบูรณ์ไม่รับพิจารณา บ.อัคราฯ
ขออนุญาตใช้ประโยชน์ในเขตป่า ชี้คำสั่ง คสช.ที่ 72/2559 ถือเป็นกฎหมาย สั่งระงับสำรวจและทำเหมืองแร่ฯ จนกว่ามติคณะกก.จะเปลี่ยนแปลง
เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ณ ห้องเมืองราชชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ (อาคาร 2) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า (คปป.)
ระดับจังหวัด ครั้งที่ 1/2563 โดยมีนายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์
เป็นประธานฯ ซึ่งมีวาระสำคัญ ที่ประชาชนให้ความสนใจติดตามข่าวกันจำนวนมาก กรณีบริษัทอัครารีซอร์สเซสจำกัด
(มหาชน) ได้ยื่นขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ พ.ศ.2484 เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำภายในเขตป่ามาตรา 40 (1 )
แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ 2484 ท้องที่หมู่ที่ 8 ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง
จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 4 แปลง ประกอบด้วย แปลงที่ 1 มีเนื้อที่ 49 ไร่ 1 งาน 49
ตารางวาแปลงที่ 2 เนื้อที่ 93 ไร่ 1 งาน 77 ตารางวา แปลงที่ 3 เนื้อที่ 9 ไร่ 2
งาน 02 ตารางวา และแปลงที่ 4 เนื้อที่ 19 ไร่ 2
งาน 47 ตารางวา
ซึ่งที่ประชุมได้มีการหยิบยกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 ข้อ 2 ให้ผู้มีอำนาจในการออกอาชญาบัตร ประทานบัตร
และใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ
รวมถึงการต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำและการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมแร่ทองคำไว้
จนกว่าคณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่น
โดยนายสืบศักดิ์ฯได้แจ้งในที่ประชุมว่าคำสั่ง
คสช.ถือว่าเป็นกฎหมายและจากข้อ 2 มีความชัดเจนว่าสั่งให้ระงับสำรวจและทำเหมืองแร่ฯ
เพราะฉะนั้นจังหวัดไม่มีอำนาจ ที่ประชุมไม่สามารถดำเนินการได้
ฉะนั้นมติที่ประชุมจึงจบไม่ต้องไปดำเนินการอะไรทั้งสิ้นแล้ว
และให้ส่งเรื่องคืนทางอำเภอ
รวมทั้งรายงานไปยังส่วนกลางว่าจังหวัดไม่รับเรื่องโดยอ้างถึงคำสั่งคสช.จะมีข้อขัดข้องหรือไม่
รายงานข่าวแจ้งว่า
ก่อนที่ประชุมมีมติดังกล่าว นายสืบศักดิ์ฯ
ได้หารือกับอัยการจังหวัดเพชรบูรณ์และคณะที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดฯ
ซึ่งก็มีการแสดงความเห็นว่า คำสั่งคสช.ถือเป็นกฎหมาย และประเด็นคือ
คสช.สั่งให้ระงับการพิจารณา สำหรับพื้นที่ประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของบริษัทอัคราฯมีหลายแปลงเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ โดยอยู่ในเขตพื้นที่รอยต่อ 2 จังหวัด ได้แก่จังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ ที่สำคัญเรื่องยังอยู่การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการและไม่แน่ใจล่าสุดขั้นตอนนี้ยุติอย่างไรและเมื่อยังไม่มีการปลดล็อกยังเห็นว่าควรชะลอไว้ก่อน
เพชรชัยออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น